การปฏิบัติดูแลรักษา สวนลำไย

ปฏิทินการปฏิบัติดูแลรักษา สวนลำไย
มกราคม
ระยะแทงช่อดอก
การให้น้ำ  เมื่อเห็นเป็นช่อดอกแล้วควรมีการให้น้ำเล็กน้อยและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย
การใส่ปุ๋ย
   ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อบำรุงช่อดอกและการติดผลที่ดี เช่น ปุ๋ยสูตร 10-45-10, 10-52-17 อัตรา 20-30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
  ระยะนี้อาจมีการระบาดของแมลงศัตรูช่อดอกเช่นหนอนกินดอก หนอนเจาะก้านดอก มวน ลำไย ควรทำการพ่นสารเคมีเป็นระยะ เช่น คาร์บาริล,โมโนโครโตฟอส
กุมภาพันธ์
ระยะดอกบาน
การให้น้ำ  ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การช่วยผสมเกสร
  ควรน้ำผึ้งมาเลี้ยงในระยะนี้เพื่อช่วยในการผสมเกสร
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
  งดการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงทุกชนิดในระยะนี้ เพื่อให้มีแมลงมาช่วยในการผสมเกสรให้มากที่สุด
มีนาคม-เมษายน
ระยะติดผลขนาดเล็ก
 
การให้น้ำ  ระยะนี้ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ผลแคระแกร็นและร่วงมาก
การใส่ปุ๋ย
  ระยะติดผลขนาด 5 มิลลิเมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ประมาณ 1-3 กิโลกรัม ต่อต้นเพื่อบำรุงผลให้โตอย่างสม่ำเสมอระยะผลโตปานกลาง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตราประมาณ 1-3 กิโลกรัมต่อตัน
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
  ในระยะนี้อาจมีการระบาดของ หนอนเจาะขั้วผล มวนลำไย แมลงปีกแข็ง ควรฉีดพ่นสารเคมีอย่างต่อเนื่อง เช่น โมโนโครโตฟอส คาร์บาริล
พฤษภาคม-กรกฎาคม
ระยะผลกำลังเจริญเติบโต
การให้น้ำ  ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การใส่ปุ๋ย
  ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 30 วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตรตัวท้ายสูง เช่น 13-13-21 เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น
การค้ำกิ่ง
  ระยะนี้ผลกำลังเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กิ่งจะรับน้ำหนักมากขึ้น ควรทำการค้ำกิ่งด้วยไม้ไผ่ เพื่อช่วยพยุงกิ่งไม่ให้ฉีกหัก
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
  ในสวนบางท้องที่ ในระยะนี้อาจมีการทำลายของค้างคาว ควรใช้ตาข่ายไนล่อนกันตามแนวช่องระหว่างต้น เพื่อดักจับไปทำลาย นอกจากนี้ยังมีผีเสื้อมวนหวาน แมลงวันทอง ควรรีบทำการป้องกันกำจัดโดยใช้กับดัก เหยื่อพิษ และฉีกพ่นสารเคมี ป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล
สิงหาคม
ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต
การให้น้ำ  ควรงดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว 7-10 วัน
การเก็บเกี่ยว
  การขึ้นไปเก็บผลผลิตควรใช้บันไดหรือพะองพาดกิ่งขึ้นไป ใช้กรรไกรตัดช่อผลให้ลึกเข้าไปประมาณ 1 ฟุต จากปลายช่อไม่ควรใช้มือหัก ช่อผลโดยตรงเพราะจะทำให้ปลายกิ่งที่เหลืออยู่เป็นแผลซ้ำ หรือมีรอยฉีกขาดเข้าไปในกิ่ง ทำให้การแตกยอดอ่อนใหม่รวมทั้งการแทงช่อดอกในปีต่อไปจะไม่ดีด้วย ควรทยอยเก็บช่อผลที่แก่เต็มที่แล้วประมาณ 5-7 วันต่อครั้ง จนหมด ต้นอย่าให้ผลแก่จัดตกค้างอยู่บนต้นนานจะทำให้คุณภาพต่ำลง
กันยายน
ระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต
การตัดแต่งกิ่ง  หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดกิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทำลาย กิ่งฉีกหัก กิ่งน้ำค้าง กิ่งไขว้ซ้อนกัน เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งขึ้น ถ้าเป็นกิ่งขนาดใหญ่ควรใช้ปูนแดงที่แผลเพื่อป้องกันโรคเข้าทำลาย
การใส่ปุ๋ย
  • ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 10-20 กิโลกรัมต่อตัน
  • ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่นสูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อตัน (อายุ 7 ปี ถ้าอายุมากหรือต่ำกว่านี้ก็เพิ่มหรือลดลงตามความเหมาะสม)
  • ถ้าการแตกใบอ่อนไม่สม่ำเสมอ หรือแตกใบอ่อนช้าควรเร่งให้แตกใบอ่อนเร็วขึ้น โดยใช้ปุ๋ย ไทโอยูเรีย อัตรา 100-150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน จะช่วยให้การแตกใบอ่อนออกมาพร้อมกันและเร็วขึ้นด้วย
การป้องกันกำจัดโรคแมลง  ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีระบาดในระยะนี้ เช่น ลำไย เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่ง แมลงค่อมทอง หนอนคืบกินใบอ่อน หนอนม้วนใบ เช่น เคลเทน, โมโนโครโตฟอส,คาร์บาริล

การให้น้ำ
  • ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการแตกใบอ่อนได้เร็วขึ้น
  • ถ้าใบมีความสมบูรณ์ต่ำ ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10, 20-20-20 อัตรา ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของใบให้มากขึ้น
การป้องกันกำจัดโรคแมลง  ควรฉีดพ่นสารเคมี เช่น เคลเทน, โมโนโครโตฟอส, คาร์บาริล ป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีการระบาดในระยะนี้ เช่นไรลำไย เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่งแมลงค่อมทอง หนอนคืบกินใบอ่อน หนอนม้วนใบ
การกำจัดวัชพืช
  ถ้ามีวัชพืชขึ้นในสวนมาก ควรกำจัดให้หมด
พฤศจิกายน
ระยะใบแก่
การตัดแต่งกิ่ง  ควรมีการตัดแต่งกิ่งอีกครั้ง โดยตัดเฉพาะกิ่งแตกออกมาเป็นกระจุก กิ่งที่ไขว้กัน กิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทำลาย กิ่งน้ำค้าง
การใส่ปุ๋ย
  • ในระยะใบแก่จัดควรใส่ปุ๋ยเคมีตัวกลางและตัวท้ายสูง เช่นสูตร 9-24-24 ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อตัน เพื่อบำรุงต้นเพื่อให้มีการสะสมอาหารและสร้างตาดอกต่อไป
  • ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 100-150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน เพื่อช่วยให้ใบแก่เร็วขึ้นและช่วยป้องกันการแตกใบอ่อน หากมีฝนตกในช่วงนี้
การให้น้ำ  หลังจากหมดฝนแล้วงดการให้น้ำเพื่อให้ต้นพักตัวเร็วขึ้น
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
  ถ้ามีการระบาดของโรคพุ่มไม้กวาดให้ทำการตัดทิ้ง และพ่นสารเคมีป้องกันโรคแมลงตามการระบาดของโรคแมลง เช่น หนอนเจาะกิ่ง หนอนคืบกินใบ เช่น คาร์บาริล โมโนโครโตฟอส และโรคราน้ำค้าง เช่น แมนโคเซบ
ธันวาคม
ระยะใบแก่
ในระยะนี้ควรกำจัดวัชพืชและทำความสะอาดสวน และใต้ทรงพุ่ม เพื่อให้ดินใต้ทรงพุ่มแห้งเร็วขึ้น
การใส่ปุ๋ย
  ควรพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อบำรุงให้ต้นมีความสมบูรณ์ และกระตุ้นการสร้างตาดอก เช่น ปุ๋ยสูตร 10-52-17,10-45-10 อัตรา 20-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
  พ่นสารเคมีป้องกันโรคแมลง ที่มีระบาดในระยะนี้ เช่น มวนลำไย หนอนเจาะกิ่ง
การให้น้ำ
  งดการให้น้ำ เพื่อให้ต้นลำไยมีการสร้างตาดอก
อ้างอิงจาก
สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่
13 ถนนอารักษ์ ซอย 5 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

เพิ่มเติม